พระพุทธเจดีย์ศรีสัตตราช (เจดีย์หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) วัดเวฬุวันนี้ สร้างขึ้นจากแนวความคิดของพุทธบริษัทที่มุ่งการสร้างเจดีย์หรือพระธาตุเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นที่บรรจุพระบรม สารีริกธาตุ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของชาวพุทธในประเทศไทย ในเบื้องต้น วัดเวฬุวันจึงมีโครงการสร้างองค์เจดีย์ขนาดไม่ใหญ่นัก ใช้งบประมาณ ๕ ล้านบาท เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทำเป็นพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

แต่หลังจากที่พระเดชพระคุณพระครูภาวนากิจโกศล (หลวงปู่สอ พนฺธุโล) แห่งวัดป่าบ้านหนองแสง จังหวัดยโสธร พร้อมคณะศิษย์เริ่มโครงการสร้างพระพุทธสิริสัตตราช จำลอง (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) เพื่อช่วยเหลือวิกฤตของชาติด้านเศรษฐกิจที่คุกคามประเทศไทย อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้บารมีของพระพุทธสิริสัตตราชปกปักรักษา คุ้มครองประชาชนคนไทยที่เคารพศรัทธา ให้ผ่านพ้นวิกฤตคืนสู่ความสันติสุขโดยเร็ว โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ จนปัจจุบันได้สร้างพระพุทธสิริสัตตราช จำลอง ประดิษฐานตามวัด หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนหลายแห่งในภูมิภาคต่างๆของประเทศ รวมทั้ง ณ เขื่อนสำคัญต่างๆ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นต้น เป็นจำนวนกว่า ๑๐๑ องค์

สำหรับพระพุทธสิริสัตตราชจำลอง วัดเวฬุวัน ที่ประดิษฐานเป็นพระประธานในเจดีย์นี้ พระครูสิทธิวราคม (นิคม นิคมวโร) เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน จึงได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นองค์แรกของโครงการ มีขนาดหน้าตัก ๘๙ นิ้ว โดยที่พระพุทธสิริสัตตราชนี้ เป็นพระคู่บารมีของหลวงปู่สอ พนฺธุโลประธานดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ มีความศักดิ์สิทธิ์และมีพุทธานุภาพเป็นที่ประจักษ์ของผู้ที่เคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง องค์จำลองนี้ก็มีขนาดใหญ่มาก จึงมีแนวความคิดว่าน่าที่จะสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานองค์หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์จำลองให้มีขนาดใหญ่โตมากขึ้นกว่าแนวคิด เดิม เพื่อความเหมาะในการใช้ประโยชน์ แต่คงไว้ซึ่งความสวยงามเรียบง่าย รักษาไว้ซึ่งศิลปะแถบลุ่มแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโชคดี เป็นสิริมงคล และเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย

อนึ่ง ในระหว่างที่ท่านเจ้าอาวาสยังเที่ยวธุดงค์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับครูบาอาจารย์ต่างๆ สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตก็ได้รับพระอรหันตธาตุและอัฐิของครูบาอาจารย์สายกรรมฐานไว้บูชาจำนวนหลายรูป เช่น พระธาตุของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่มหาบุญมี สิริปุญโญ และพระธาตุหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เป็นต้น จึงเห็นสมควรจัดทำพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานไว้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาแก่ผู้สนใจทั่วไป ด้วยแนวคิดและเหตุผลดังกล่าวนี้ การก่อสร้างเจดีย์จึงมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีพิพิธภัณฑ์อยู่ภายในเจดีย์ด้วย

วัตถุประสงค์การก่อสร้าง

  • เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิริสัตราช จำลอง (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ขนาดหน้าตัก ๘๙ นิ้ว (ขนาดโดยรวมขององค์พระพร้อมนาคปรก ฐานกว้าง ๔ เมตร สูง ๖ เมตร)
  • เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุ ทั้งในอดีตและยุคปัจจุบัน
  • เพื่อจัดแสดงและเก็บรวบรวมพระพุทธรูป (พระบูชา) เหรียญ พระผง รูปภาพและคัมภีร์โบราณรวมทั้งวัตถุมงคลอื่นๆ
  • เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาแก่พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง
  • เพื่อเป็นที่สักการะบูชาและยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในช่วงที่ประเทศไทยประสบ ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตภัยแล้ง
  • กลับขึ้นบน^

ลักษณะและขนาดเจดีย์

ด้านศิลปะ

ลักษณะเจดีย์เป็นแบบศิลปะประยุกต์ผสมผสานระหว่างภาคกลางและภาคอีสานตอนบนแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กำแพงแก้วรอบเจดีย์ ผนังกำแพงติดแผ่นแกรนิตแกะสลักพระพุทธพจน์และคติธรรม รวมทั้งพระบรมราโชวาทของพระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์
  • องค์เจดีย์ เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นออกทั้ง ๔ ด้าน ( จตุรมุข ) มีความหมายว่า หมายถึงอริยสัจ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
  • หลังคาเจดีย์ เป็นศิลปะอีสานตอนบน จำลองแบบมาจากมณฑปหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย มี๓ระดับ มีความหมายว่าหมายถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์
  • ยอดเจดีย์ จำลองแบบจากพระธาตุพนม แต่เปลี่ยนวัสดุและลายเป็นสเตนเลส อย่างดี เพื่อให้เบาและทนทาน
  • ยอดฉัตรเจดีย์มี ๗ ชั้น สร้างด้วยสเตนเลสอย่างดี มีความหมายว่า หมายถึงโพชฌงค์๗ ซึ่งได้แก่ธรรมที่เป็นองค์เครื่องตรัสรู้ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา

ด้านโครงสร้างและวัสดุ

โครงสร้างได้รับการออกแบบโดยนายช่าง สุพจน์ วิเชียรนิตย์ วิศวกรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โครงสร้างเจดีย์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด และก่ออิฐฉาบปูนตกแต่ง มีลายปูนปั้นบ้างเล็กน้อย มีเพียงส่วนยอดเท่านั้นที่ใช้สเตนเลสอย่างดี มีทั้งสีขาวและสีทอง

ขนาดเจดีย์

ความกว้างขององค์เจดีย์ ๑๕ x ๑๕ เมตร สูง ๓๙ เมตร (รวมฉัตร) ส่วนรอบองค์เจดีย์กว้าง ๖ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ทางเดินรอบเจดีย์กว้าง ๖ เมตร ยาว ๓๙ เมตร ภายในเจดีย์เป็นโถ่งใหญ่ ๑ ห้อง ขนาด ๑๑ x ๑๕ เมตร มีแท่นหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ จำลอง ตั้งอยู่ตรงกลาง ห้องโถงเล็ก ๒ ห้อง ๒ ชั้น จัดเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ ขนาด ๔ x ๑๕ เมตร

การดำเนินการก่อสร้าง

เริ่มประกอบพิธียกเสาเอก เสาโท เมื่อ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยหลวงปู่สอ พฺนธุโล และคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ยกยอดฉัตรเจดีย์เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ (วันวิสาขบูชา) องค์เจดีย์และบริเวณโดยรอบ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙

งบประมาณ

ใช้ทุนทรัพย์ประมาณ ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเจ็ดล้านบาท) โดยเป็นเงินบริจาคจากพุทธศาสนิกชนทั่วไปประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทายกทายิกาวัดเวฬุวัน ประมาณ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการสร้างพระพุทธสิริสัตตราชจำลอง ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

การฉลองสมโภชเจดีย์

คณะสงฆ์ และ ทายกทายิกาวัดเวฬุวัน ได้ประชุมร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัด หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการฉลองเจดีย์ในระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน

กลับขึ้นบน^