วัดเวฬุวัน เดิมชื่อวัดแก้งคำ ตั้งอยู่บ้านแก้งกุดเชียงโสม ตำบลหนองบัว อำเภอ สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันตำบลหนองบัวอยู่ในเขต อำเภอหนองกรุงศรี) ตั้งวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๒ อายุของวัดถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) จำนวน ๑๐๘ ปี นับว่าเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่มากวัดหนึ่ง ที่ดินตั้งวัดในอดีตมีเนื้อที่ ประมาณ ๑๐ ไร่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้านแก้งคำ เป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ประชาชนตามคติโบราณคือ วัดเป็นสถานศึกษาของชุมชน นอกจากนั้นวัดยังเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญของชาวพุทธตามคติ ฮีต ๑๒ ครอง ๑๔ ทำให้วัดได้รับการยอมรับเคารพนับถือและเทิดทูนจากประชาชนอย่างมาก

ในการสร้างวัดในยุคแรกนั้น พระสงฆ์ที่เป็นผู้นำในการสร้างวัดได้แก่ พระอาจารย์ลุน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเขตอำเภอยางตลาด ทั้งนี้จากข้อมูลคำบอกเล่าของ นายพิมพ์ สมคำสี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ นายพิมพ์ มีอายุ ๙๔ ปี (เกิด พ.ศ. ๒๔๔๑) นายพิมพ์ ยืนยันว่าสมัยเป็นเด็กอายุ ประมาณ ๓ - ๔ ปี บิดา มารดาเคยพาไปตักบาตรทำบุญที่วัดหลายครั้ง ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าวัดบ้านแก้งคำได้ตั้งมานานแล้ว โดยนายพิมพ์ สมคำสี สันนิษฐานว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๒ ในระหว่างนี้วัดบ้านแก้งคำไม่สังกัดคณะธรรมยุตหรือมหานิกาย แต่เมื่อปี พ.ศ. ๑๓๘๐ - ๒๔๘๒ ท่านพระครูประสิทธิสมณญาณ ได้มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้นำญาติโยมพัฒนาวัดให้มีเสนาสนะต่าง ๆ เหมาะสมขึ้น และเนื่องจากวัดนี้มีกอไผ่ขึ้นล้อมรอบตามรั้ววัดจำนวนมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเวฬุวัน” สังกัดในคณะธรรมยุติกนิกาย ตั้งแต่นั้นมา สืบเนื่องจากวัดนี้มีการตั้งมานาน จึงมีพระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปกครองวัดในฐานะเจ้าอาวาส ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย จำนวนประมาณ ๑๗ รูป บางรูปปกครอง ๒ ปี บางรูป ๕ ปี และบางรูป ๓๐ ปี

สถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน

วัดเวฬุวัน ในปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ ๕๘ หมู่ที่ ๒ บ้านตาดดงเค็ง (ผัง๖) ตำบลนิคม อำเภอ สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ ๔๖๑๔๐

สาเหตุที่ย้ายวัดเวฬุวันมาตั้งใหม่ในปัจจุบัน เนื่องจากที่วัดเดิมถูกน้ำท่วม เพราะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนลำปาว ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ ดังนั้น นิคมสร้างตนเองลำปาว กรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดสรรที่ให้แก่ประชาชนที่อพยพย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน จึงได้จัดสรรที่ให้ตั้งวัด จำนวน ๑๒ ไร่ ตามหนังสือ กรมประชาสงเคราะห์ ที่ มท. ๐๗๑๑/๐๔๐๔๒ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยมีวัดและโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรที่ดินพร้อมกัน จำนวน ๕ วัด โรงเรียน ๗ แห่ง รวมเป็น ๑๒ แห่ง

กลับขึ้นบน^

อาณาเขตของวัด

ทิศตะวันออก กว้าง ๒ เส้น ๒ วา จรดถนนสาธารณประโยชน์ปัจจุบันถมคอนกรีตเข้าสู่บ้านคำประถม ผัง ๑๐ ทิศตะวันตก กว้าง ๓ เส้น ๒ วา จรดที่ดินของนายจันทร์ แก้วสิมมา ทิศเหนือ ยาว ๖ เส้น จรดถนนสาธารณประโยชน์ ปัจจุบันเป็นถนนคอนกรีตจากบ้านตาดดงเค็ง ผ่านหน้าวัด ไปสู่บ้านคำประถม ผัง ๑๐ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นถนนลูกรังผ่านหน้าวัดไปสู่บ้านศรีสมบูรณ์ ผัง ๙ ทิศใต้ ยาว ๖ เส้น จรดที่ดินทำกินของชาวบ้าน จำนวน ๔ แปลงลักษณะรูปที่ดินเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ที่ดินตั้งวัดและธรณีสงฆ์

  • ที่ดินตั้งวัด จำนวน ๑๒ ไร่ ( กรมประชาสงเคราะห์ )
  • ที่ดินธรณีสงฆ์ที่มีเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน) จำนวน ๗ แปลง เนื้อที่ทั้งหมดจำนวน ๒๓ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา
  • ที่ดินธรณีสงฆ์ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน ประมาณ ๙ ไร่ ( ที่ป่าช้า ๔ ไร่ , สวนไม้สัก ด้านหน้าเจดีย์ ๕ ไร่ )
  • รวมที่ดินทั้งหมด จำนวน ๔๔ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา

การย้ายวัด/สถานะของวัด

 
พ.ศ. ๒๕๑๐ อพยพและย้ายวัดจากบ้านแก้งคำ มาอยู่บ้านตาดคงเค็ง ผัง ๖
พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรที่ดินให้ตั้งวัดจำนวน ๑๒ ไร่ ตามหนังสืออนุญาตที่ มท. ๐๗๑๑/๑๔๐๔๒ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๑๑
พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับอนุญาตให้ย้ายวัดเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย ตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐
พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๑
พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับการขึ้นทะเบียนวัด จากกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ตาม หนังสือที่ ศธ ๐๓๐๓ / ๔๒๙๑ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ (วัดเก่าตกสำรวจ)

กลับขึ้นบน^