โรงเรียนการกุศลวัดเวฬุวัน ตั้งขึ้นเมื่อ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ใบอนุญาตเลขที่ ๐๔๐๒๐/๒/๒๕๕๕ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนที่ดำริขึ้นจากความเมตตาของพระครูสิทธิวราคม (พระอาจารย์นิคม นิคมวโร) เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์(ธรรมยุต), เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เนื่องด้วยปัจจุบันเยาวชนในชนบท ยังมีความขาดแคลนทั้งในด้านโอกาสทางการศึกษา, ความรู้ ความสามารถในด้านวิชาการ รวมทั้งยังประสบกับปัญหาทางด้านสังคมต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิเช่น เยาวชนขาดคุณธรรม จริยธรรม, ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดของเยาวชนในชุมชน ฯลฯ และเพื่อเป็นการต่อยอดด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ ให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันโรงเรียนการกุศลวัดเวฬุวัน ได้เริ่มดำเนินการเปิดการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน เพื่อให้เยาวชนในชนบทได้มีโอกาสที่ดีในด้านการศึกษาเล่าเรียน ควบคู่กับการปลูกฝังทางด้านคุณธรรม จริยธรรมและเพื่อให้เป็นเยาวชนมีความรู้ความสามารถและเป็นคนดีของสังคมสืบไป
เนื่องจากโรงเรียนวัดเวฬุวัน และชุมชนโดยรอบ ตั้งอยู่ในเขตชนบท ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร โดยยึดอาชีพ ทำนา ทำไร่และทำสวนเพื่อการยังชีพ และมีฐานะทางครอบครัวยากจน เด็กนักเรียนต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรมในระหว่างเรียน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะประกอบอาชีพสืบทอดจากครอบครัว คืออาชีพเกษตรกร และรับจ้างอื่นๆ
ชาวบ้านในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามประเพณีบุญต่างๆ ยึดมั่นในวัฒนธรรม จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ระดับการศึกษาของคนในชุมชน ส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ คือ ป.๔ ป.๖ และ ม.๓ มีรายได้ต่อปีครัวเรือนละประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ คณะกรรมการวัดเวฬุวันจึงจัดตั้งโรงเรียนการกุศลวัดเวฬุวันขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรธิดา และช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนั้น นักเรียนยังได้รับการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม และฝึกปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาทั้งในสถานศึกษาและในชีวิตประจำวัน โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ให้สัมพันธ์และบูรณาการกับการดำเนินชีวิต
ชุมชน มีความต้องการที่จะให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาเพื่อการกุศล เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และนักเรียน ยังได้รับการพัฒนาชีวิต ตามหลักไตรสิกขา โดย ฝึกปฏิบัติให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่นการรักษามารยาท การทำบุญตักบาตร การมีเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูล การฝึกสมาธิและการฝึกคิดวิเคราะห์ตามหลักโยนิโสมนสิการ ตลอดถึงการส่งเสริมการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารเพื่อการศึกษาต่อและการปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างสัมพันธไมตรี กับชาติต่างๆในอาเซียนและประเทศอื่นๆ
ทางคณะกรรมการบริหารวัด กรรมการหมู่บ้าน จึงเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อการกุศลขึ้น เพื่อจัดการศึกษาฟรีแก่ชุมชน เช่น เสื้อผ้า ค่ารถ หนังสือเรียน และอุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็น เพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน หลายฝ่ายร่วมมือ พัฒนาศักยภาพเยาวชนในท้องถิ่น ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ คุณธรรม ภายใต้การจัดการศึกษาแบบ “ไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผู้เรียน” และหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือหลัก “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน
โดยที่ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการอบรมบ่มเพาะด้านศีลธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักคำสอนสำคัญ คือ หลักไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นหลักการพัฒนาคนที่สมบูรณ์ที่สุด สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งด้านกาย วาจา และจิตใจ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ผู้บริหารโรงเรียนในปัจจุบัน ประกอบด้วย พระครูสิทธิวราคม เป็นผู้จัดการโรงเรียน นายพงษ์เทพ ศิริ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และมีครูทั้งชาวไทยและต่างชาติ ๗ คน มีเจ้าหน้าที่และนักการภารโรง รวม ๔ คน รวมบุคลากรทั้งหมด ๑๓ คน
(บน) พิธีมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท
(บน) ผู้ปกครองและนักเรียนปฏิบัติธรรมร่วมกันในวันเข้าพรรษา
(บน) พิธีมอบทุนการศึกษาเพื่อเป็นกำลังใจแก่เด็กนักเรียน
(บน) พิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชน
(บน) เด็กนักเรียนไหว้พระ สวดมนต์ก่อนเริ่มเรียนหนังสือ