เมืองโบราณที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยังสามารถพบเห็นได้มากมายอยู่ ทั่วไปในบริเวณเมืองแห่งนี้ ปราสาทวัดพูและปราสาทบริวาร เป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของนครจำปาสักในอดีต โดยในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ โบราณสถานปราสาทวัดพูและปราสาทบริวาร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ความสำคัญนครจำปาสักมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูล โดยการสนับสนุนจากสมเด็จพระสังฆราชธรรมโชติ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก) โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีของราชอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก มีฐานะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครอง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถระวาทไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งหมด ที่อยู่ภายใต้การปกครองในขณะนั้น ซึ่งรวมถึงบางส่วนในภาค อิสานของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันด้วย พระพุทธปฏิมากร พระไตรปิฎกและหนังสือผูกที่จารึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ได้มีการจัดทำขึ้นและเผยแผ่ไปทั่วแว่นแคว้นในยุคสมัยนั้น จึงนับได้ว่านครจำปาสักเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา และที่มีส่วนช่วยให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน วัดวาอารามต่างๆ ที่เคยงดงามในอดีตได้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมไปตามกาลเวลา
โครงการสะพานบุญจากไทยสู่ลาว เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา เป็นโครงการที่ดำริขึ้นเนื่องด้วยพสกนิกรที่มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อปวงชนชาวไทย และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวลาวได้มีส่วนร่วมกัน ในการทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนา ณ วัดวาอารามและสำนักวิปัสสนาทั้งหลาย ในแขวงจำปาสัก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว เป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เวียนมาบรรจบครบรอบในวันที่ ๕ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคง ครบห้าพันปีสืบไป
กำหนดรวบรวมพระไตรปิฎก หนังสือนักธรรม และสื่อธรรมะอื่นๆ รวมทั้งหนังสือเรียน/วิชาการระดับอุดมศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดถึงจตุปัจจัย ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ส่วนจตุปัจจัย รับบริจาคจนถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ทั้งนี้ คณะทำงานจะเดินทางไปถวาย ในวันที่ ๑๗ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
สำหรับท่านผู้มีจิตศรัทธาที่สนใจจะร่วมสมทบปัจจัยกับโครงการมหากุศล สะพานบุญจากไทยสู่ลาว เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ตามกำลังศรัทธา