โครงการปฏิบัติกรรมฐานพระสังฆาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) ครั้งที่ ๗ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ประจำปี ๒๕๕๔


ชื่อโครงการ โครงการอบรมกรรมฐานสำหรับพระสังฆาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) ครั้งที่ ๗ ประจำปี ๒๕๕๔
ลักษณะโครงการ โครงการต่อเนื่อง
ผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์  (ธรรมยุต)
ผู้สนับสนุนโครงการ พระสังฆาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์(ธรรมยุต) คณะสงฆ์และทายกทายิกาของวัดที่เป็นสถานที่จัดอบรม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน

หลักการและเหตุผล

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของท่านผู้รู้แจ้ง หรือ ศาสนาแห่งความรู้แจ้ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ความพ้นทุกข์ (นิพพาน) มีหลักการสำคัญ คือ โอวาทปาฏิโมกข์ และมีวิธีการปฏิบัติตามแนวทางมรรคมีองค์แปด ซึ่งกล่าวโดยสรุปแล้วได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา พระธรรมคำสอนอันประเสริฐเหล่านี้ เป็นสมบัติอันล้ำค่าที่พระพุทธเจ้าได้ฝากไว้กับพุทธบริษัท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญพระธรรมคำสอนอันประเสริฐนี้ได้ผ่านการพิสูจน์ทดลองจากผู้ปฏิบัติธรรม นักปราชญ์ และผู้เคารพศรัทธามาตลอดสองพันห้าร้อยกว่าปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชาวพุทธในประเทศไทย และในสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง แต่พระพุทธศาสนาก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆมาได้โดยลำดับ ทั้งนี้เพราะได้อาศัยพระเถรานุเถระผู้ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ระดับต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ ได้เสียสละและอุทิศตนต่อศาสนกิจในพระพุทธศาสนา ซึ่งควรแก่การสรรเสริญและถือเป็นแบบอย่างอันดีงามของคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กระแสโลกา- ภิวัตน์ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และกระแสดังกล่าวได้แพร่เข้าสู่สถาบันต่างๆ ทางสังคม ไม่เว้นแม้แต่สถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นอันตรายทั้งในหมู่พระสงฆ์ พุทธศาสนิกชนและชาวไทยทั่วไป ประกอบกับในปัจจุบัน ปัญหาต่างๆในวงการคณะสงฆ์ได้ถูกเปิดเผยสู่สังคมไทยและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายมากขึ้น นับว่าเป็นสัญญาณอันตรายของสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันการปฏิบัติกรรมฐานในหมู่พระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสังฆาธิการกลับมีแนวโน้มลดลง และไม่เข้มแข็งมากพอที่จะเป็นผู้นำชาวพุทธในสถานการณ์ปัจจุบันได้ ดังนั้น จึงสมควรที่พระสังฆาธิการทุกระดับจะได้ตระหนักและหันกลับมาฟื้นฟู และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านการปฏิบัติกรรมฐานให้มากขึ้น อย่างน้อยเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงและความสุขใจให้กับตนเอง มากกว่านั้นจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของคณะสงฆ์ รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความพร้อมและภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการทุกรูป ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยรวมต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อฟื้นฟูการปฏิบัติกรรมฐานในหมู่พระสังฆาธิการธรรมยุตทุกรูปในจังหวัดกาฬสินธุ์
  2. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถด้านการปฏิบัติกรรมฐานแก่พระสังฆาธิการทุกรูป
  3. เพื่อสร้างภาวะผู้นำด้านการปฏิบัติกรรมฐานแก่พระสังฆาธิการทุกรูป
  4. เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่พระสังฆาธิการทุกรูป
  5. เพื่อสร้างความเจริญและความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนาในจังหวัดกาฬสินธุ์

เป้าหมาย

ก.เชิงปริมาณ พระสังฆาธิการธรรมยุตทุกระดับทุกรูปในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๓๖๐ รูป ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ ๗ จำนวน ๑๐๐ รูป พระภิกษุสามเณรทั่วไป จำนวน ๕๐ รูป เน้นพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ คำม่วง สามชัย สมเด็จ นามน นาคู และห้วยผึ้ง

ข.เชิงคุณภาพ พระสังฆาธิการที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความสามารถและมีภาวะผู้นำด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ส่งผลดีต่อคณะสงฆ์ธรรมยุตจังหวัดกาฬสินธุ์และพระพุทธศาสนาโดยรวม

ระยะเวลาดำเนินการ (๔ คืน ๕ วัน)

ขั้นเตรียมการ

  • ปรึกษาหารือประธานคณะกรรมการสงฆ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) เพื่อรับฟังความคิดเห็น
  • จัดทำโครงการฯ
  • นำเสนอโครงการต่อประธาน และคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต)

ขั้นดำเนินการ

  • แต่งตั้งคณะทำงานตามโครงการฯ
  • ประชาสัมพันธ์และแจ้งพระสังฆาธิการที่เกี่ยวข้องทุกรูป
  • นิมนต์พระเถราจารย์ เป็นวิทยากรให้การอบรมตามโครงการฯ
  • ดำเนินการอบรมเป็นรุ่นที่ ๗ จำนวน ๑๕๐ รูป
  • สรุปผลการดำเนินงานตามโครงการ

หลักสูตรการอบรม

ภาคเตรียมการ

  • จังหวัดแจ้งพระสังฆาธิการทุกรูป พร้อมใบตอบยืนยันเข้าร่วมการอบรม
  • ผู้เข้าอบรมเตรียมบาตร กลด/มุ้ง เสื่อ/ผ้ายาง กระป๋องน้ำดื่ม ไฟฉาย ยาทากันยุง ไม้ขีดไฟ เทียน และบริขารที่จำเป็นอื่น ๆ
  • เดินทางถึงสถานที่อบรมก่อนการอบรม ๑ ชั่วโมง ลงทะเบียน รับเอกสารและจัดที่พัก

ภาควิชาการ

  • ปฐมนิเทศโดยเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) และกองเลขาฯ
  • ประธานในพิธีกล่าวเปิดการอบรมและให้โอวาท
  • บรรยายเรื่อง การปฏิบัติกรรมฐานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพพระสังฆาธิการได้อย่างไร ?
  • บรรยายเรื่อง ความสำคัญของการปฏิบัติกรรมฐานในพระพุทธศาสนา
  • บรรยายเรื่อง การเจริญกรรมฐานแบบ “พุทโธ”
  • บรรยายเรื่อง การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและบทสวดที่เกี่ยวข้อง
  • บรรยายเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บจีวร
  • บรรยายเรื่อง การประชุมกิจการคณะสงฆ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)

ภาคปฏิบัติ

  • ประชุมทำวัตรเช้า - เย็น ทุกวัน
  • ออกรับบิณฑบาตทุกวัน
  • ฉันภัตตาหารมื้อเดียว (ในบาตร)
  • ทำกิจวัตร ปัดกวาด เช็ดถู และรักษาความสะอาดที่พักและบริเวณวัดทุกวัน
  • มีความเคารพนับถือกันตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
  • บำเพ็ญจิตภาวนา (เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น) ไม่ต่ำกว่าวันละ ๕ ชั่วโมง
  • สนทนาธรรม/ตอบปัญหาธรรม

สถานที่ดำเนินการ

รุ่นที่ ๗ นี้ จัดอบรม ณ วัดเวฬุวัน ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

งบประมาณ

รายรับ
กองทุนสงเคราะห์พระสังฆาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์  (ธรรมยุต) ๕๐,๐๐๐ บาท
พระครูสิทธิวราคมและคณะศิษย์วัดเวฬุวัน ๑๐,๐๐๐ บาท
จากผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปบริจาค - บาท
รวมรายรับ ๖๐,๐๐๐ บาท

รายจ่าย
ค่าอาหาร น้ำปานะ ๔ วัน ๓๐,๐๐๐ บาท
ถวายพระเถราจารย์ผู้ให้การอบรมฯ ๔ รูป รวม ๒๐,๐๐๐ บาท
ค่าจัดเตรียมสถานที่อบรมฯ ๕,๐๐๐ บาท
ค่าเอกสารและค่าดำเนินการอื่น ๆ ๕,๐๐๐ บาท
รวมรายจ่าย ๖๐,๐๐๐ บาท

การประเมินผล

  • สังเกตจากการแสดงออกจากผู้เข้ารับการอบรม ตลอด ๓ วัน
  • จากการสอบถาม และสนทนาธรรมระหว่างการอบรม
  • จากแบบสอบถาม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. พระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความ สามารถและมีภาวะผู้นำในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานมากขึ้น
  2. พระสังฆาธิการที่เข้าร่วมโครงการมีความสมานฉันท์และสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น
  3. คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) มีความเข้มแข็งในการบริหารศาสนกิจในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
  4. เป็นการกระตุ้นให้พระภิกษุสามเณรและชาวพุทธตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม กรรมฐาน
  5. ก่อให้เกิดความเจริญมั่งคงต่อสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
กลับขึ้นบน^